“ทาโก้” (Taco) เป็นหนึ่งในอาหารประจำชาติยอดนิยมของชาวเม็กซิกัน เนื่องจากเป็นอาหารที่รับประทานสะดวก และสามารถพกพาไปเป็นเสบียงระหว่างเดินทางได้ง่าย
ทาโก้คือ การนำแผ่นแป้งตอร์ติย่า (Tortilla) มาห่อเนื้อสัตว์และผัก โดยลักษณะของแผ่นแป้งที่นำมาใช้ทำทาโก้จะมีทั้งแป้งตอร์ติย่าแบบขาว และแป้งตอร์ติย่าข้าวโพด ซึ่งแป้งตอร์ติย่าถือเป็นวัตถุดิบหลักที่ขาดไม่ได้ในอาหารเม็กซิกัน โดยส่วนผสมด้านในจะเป็นการใส่เนื้อสัตว์ ผัก และซอส ที่ขึ้นอยู่กับสูตรของแต่ละบุคคล โดยเนื้อสัตว์มักนิยมใช้เป็น เนื้อไก่ เนื้อหมู และเนื้อวัว เป็นต้น ส่วนผักมักนิยมใช้เป็นผักกาดแก้ว มะเขือเทศ พร้อมด้วยเชดดาร์ชีส หรือมอสซาเรลล่าชีสตามต้องการ ประกอบกับซอสที่จะมาเป็นตัวเสริมรสชาติ ตามแต่ละสูตร เช่น ซัลซ่า (Pico De Gallo Salsa), กัวคาโมเล่ (Guacamole) หรือซาวครีม (Sour Cream) เป็นต้น
ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าแท้จริงแล้วทาโก้นั้นมีแหล่งกำเนิดมาจากที่ใด แต่มีการคาดเดาว่าอาจเริ่มมาจากชนเผ่าโบราณพื้นเมือง เช่น ชนเผ่าแอซเท็ค (Aztec) ชนเผ่ามายัน (Mayans) และชาวพื้นเมืองลาตินอเมริกา (Latin America) โดยความแพร่หลายของทาโก้ ได้ถูกสอดแทรกอยู่ในวัฒนธรรมเม็กซิโกและลาตินอเมริกามายาวนานกว่าหลายพันปี
แต่คำว่าทาโก้เริ่มมาเด่นชัดในช่วงศตวรรษที่ 18 โดยชาวเหมืองเงินในประเทศเม็กซิกัน ที่เรียกกระดาษห่อดินปืนที่จะนำไปใช้ในการขุดเหมืองว่า “ทาโก้” ซึ่งเมื่อมาพิจารณาดูดี ๆ แล้ว ลักษณะของทาโก้จะมีความคล้ายคลึงกับกระดาษห่อดินปืน เนื่องจากแผ่นแป้งตอร์ติย่าด้านนอกจะมีลักษณะเหมือนกระดาษ และตัวไส้ก็เปรียบเสมือนดินปืน
ซึ่งก่อนจะมาเป็นทาโก้ในปัจจุบัน คำว่าทาโก้ก็ปรากฏให้เห็นในศตวรรษที่ 19 จากคำว่า ‘Tacos de Minero’ ที่แปลว่า ทาโก้ของคนงานเหมือง (Miner’s Taco) นั่นเอง และนี่จึงเป็นเหตุให้คำว่า “ทาโก้” กลายเป็นชื่อเรียกของอาหารชนิดนี้