Tortilla

แป้งตอร์ติย่า (Tortilla) คืออะไร ? ทำไมถึงเป็นหัวใจสำคัญของอาหารสไตล์เม็กซิกัน

แป้งตอร์ติย่า (Tortilla)

 

หลายคนอาจจะเคยได้ยินชื่อของ แป้งตอร์ติย่า (Tortilla) มาบ้างแล้ว แต่อาจจะยังมีคนที่ไม่รู้ว่า จริง ๆ แล้วแป้งตอติย่านั้น เริ่มแรกทำมาจาก “ข้าวโพด” โดยข้าวโพดถือเป็นวัตถุดิบสำคัญประจำประเทศเม็กซิโกเลยก็ว่าได้

 

ข้าวโพดมีถิ่นกำเนิดที่ประเทศเม็กซิโกและอเมริกากลาง โดยชนพื้นเมืองในทวีปอเมริกาจะเรียกข้าวโพดว่า “Maize” และเมื่อข้าวโพดได้ถูกนำกลับไปที่ทวีปยุโรปโดยคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ชาวยุโรปจึงได้ให้ชื่อเรียกของข้าวโพดว่า “Corn” คนทั่วไปอาจจะคิดว่าพริกเป็นจุดเด่นของอาหารเม็กซิกัน แต่แท้จริงแล้วปัจจัยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของการทำอาหารเม็กซิกันคือการนำ “ข้าวโพด” มาเป็นส่วนประกอบในเมนูเม็กซิกันโดยนำมาประยุกต์ใช้ในรูปแบบต่าง ๆ

 

ข้าวโพดได้ถูกนำมาทำเป็นแป้งตอร์ติย่า โดยได้รับความนิยมอย่างยิ่งในหมู่ชนเผ่าโบราณที่อาศัยในบริเวณตอนกลางของเม็กซิโกระหว่างศตวรรษที่ 14-16 หรือที่เรียกกันว่าชาวแอซเท็ก (Aztec) และต่อมาในภายหลังได้เริ่มมีการประยุกต์ให้แป้งตอติย่ามีความนุ่มมากขึ้นและไม่แตกหักง่าย โดยการใช้ “แป้งสาลี” ซึ่งเป็นที่นิยมในช่วงหลัง

 

ในปัจจุบันทั้งแป้งสาลีและแป้งข้าวโพดยังคงถูกนำมาใช้ โดยขึ้นอยู่กับเมนู และสูตรของแต่ละบุคคล โดยแป้งข้าวโพดที่มีเนื้อสัมผัสที่กรอบมากกว่าจะนิยมนำมาทำเป็นตอร์ติย่าชิปส์ (Tortilla Chips) เพื่อมาประกอบในเมนูอย่าง นาโช่ (Nachos) ส่วนแป้งสาลีมักจะนำมาใช้ในเมนูที่ต้องการความนุ่มของแป้ง เช่น เบอร์ริโต้ (Burrito), ฟาฮิต้า (Fajitas) และ เคซาดิย่า (Quesadilla) เป็นต้น แต่ในขณะเดียวกันทั้งแป้งสาลีและแป้งข้าวโพดก็ยังถูกนำมาใช้ใน ทาโก้ (Taco) โดยขึ้นอยู่กับสูตรของแต่ละบุคคลเช่นกัน

 

ตอร์ติย่า คืออาหารหลัก ?

ตอร์ติย่ายังคงเป็นอาหารหลักในประเทศเม็กซิโกและอเมริกากลาง ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นวัตถุดิบที่เริ่มต้นจากอาหารของชนเผ่าโบราณ และพัฒนาไปสู่การเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก อาจกล่าวได้ว่าถ้าไม่มีตอร์ติย่า ก็คงเหมือนขาดหัวใจสำคัญของอาหารสไตล์เม็กซิกันไปเลยก็ว่าได้

บทความที่เกี่ยวข้อง

Tacobell Thailand ใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น
อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)